all - logo RS

all - logo RS

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถานบริการ

การเปิด-ปิด สถานบริการ
- พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ. ๒๕๐๙
- กฎกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ ๓ (พ.ศ. ๒๕๒๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. ๒๕๐๙
- ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๕๓ ลงวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๑๕
- กฎกระทรวง (พ.ศ.๒๕๑๕) ออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๕๓ ลงวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๑๕
(ขณะนี้ กำลังมีการเปลี่ยนแปลงเวลาในการเปิด-ปิด สถานบริการ จึงไม่สามารถให้ข้อมูลได้)


การใช้เสียงในสถานบริการ
พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕
"เจ้าของ หรือ ผู้ครอบครอง แหล่งกำเนิดมลพิษ ที่ปล่อยหรือก่อให้เกิดเสียงหรือความสั่นสะเทือน เกินกว่าระดับมาตรฐานที่กำหนด มีหน้าที่ต้องติดตั้ง หรือ จัดให้มีระบบบำบัดอุปกรณ์หรือเครื่องมืออื่นใดสำหรับการควบคุมมลพิษ"
(พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๖๘ วรรค ๒)
"มลพิษ" หมายความว่า ของเสีย วัตถุอันตราย และมลสารอื่นๆ รวมทั้งกาก ตะกอนหรือสิ่งตกค้างจากสิ่งเหล่านั้น ที่ถูกปล่อยทิ้งจากแหล่งกำเนิดมลพิษ หรือที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อม หรือภาวะที่เป็นพิษภัย อันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนได้ และให้หมายความรวมถึง รังสี ความร้อน แสง เสียง กลิ่น ความสั่นสะเทือน หรือเหตุรำคาญอื่นๆ ที่เกิดหรือถูกปล่อยออกจากแหล่งกำเนิดมลพิษด้วย
"เหตุรำคาญ" (พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๔) หมายความว่า การกระทำใดๆ อันเป็นเหตุให้เกิด กลิ่น แสง รังสี เสียง ความร้อน สิ่งมีพิษ ความสั่นสะเทือน ฝุ่นละออง เขม่า เถ้า หรือกรณีอื่นใด จนเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
"เสียงรบกวน" หมายความว่า ระดับเสียงจากแหล่งกำเนิด ขณะมีการรบกวนที่มีระดับเสียงสูงกว่าระดับเสียงพื้นฐาน และมีระดับการรบกวนเกินกว่าค่าระดับเสียงรบกวนที่กำหนดไว้
กำหนดค่าระดับเสียงรบกวนไว้ที่ ๑๐ เดซิเบล เอ หากการรบกวนที่คำนวณได้ มีค่ามากกว่าระดับเสียงรบกวน ให้ถือว่าเป็นเสียงรบกวน
"ระดับเสียงโดยทั่วไป" หมายความว่า ระดับเสียงที่เกิดขึ้นในสิ่งแวดล้อม กำหนดมาตรฐานระดับเสียงโดยทั่วไป คือ
๑) ค่าระดับเสียงสูงสุดไม่เกิน ๑๑๕ เดซิเบลเอ
๒) ค่าระดับเสียงเฉลี่ย ๒๔ ชั่วโมง ไม่เกิน ๗๐ เดซิเบลเอ


พระราชบัญญัติ การสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕
ในกรณีที่มีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียง หรือผู้ที่ต้องประสบกับเหตุการณ์กระทำใดๆอันเป็นเหตุให้เกิด กลิ่น แสง รังสี เสียง ความร้อน สิ่งมีพิษ ความสั่นสะเทือน ฝุ่นละออง เขม่า เถ้า หรือกรณีอื่นใด จนเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ให้ถือว่าเป็นเหตุรำคาญ
(พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๒๕)
กฎหมายได้ให้อำนาจแก่เจ้าพนักงาน ออกคำสั่งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองสถานที่นั้นระงับเหตุรำคาญ หรือ มีอำนาจระงับเหตุรำคาญนั้นเพื่อป้องกันมิให้มีเหตุรำคาญเกิดขึ้นอีก หรือ ห้ามมิให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองใช้ หรือยินยอมให้บุคคลใดใช้สถานที่นั้นทั้งหมดหรือบางส่วน จนกว่าจะเป็นที่พอใจแก่เจ้าพนักงานท้องถิ่น ว่าได้มีการระงับเหตุรำคาญนั้นแล้วก็ได้ หากผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น หรือขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานท้องถิ่นดังต่อไปนี้

๑) โดยไม่มีเหตุหรือ
๒) ข้อแก้ตัวอันสมควร
กฎหมายได้บัญญัติให้ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน ๑ เดือนหรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายอาญา บัญญัติว่า "ผู้ใดส่งเสียง ทำให้เกิดเสียงหรือการกระทำความอื้ออึงโดยไม่มีเหตุสมควร จนทำให้ประชาชนตกใจหรือเดือดร้อนต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท"   (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๗๐) 


การขออนุญาต
พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ. ๒๕๐๙  
"สถานบริการ" หมายความถึง สถานที่ตั้งขึ้นเพื่อให้บริการโดยหวังประโยชน์ในการค้า ดังต่อไปนี้
๑) สถานเต้นรำ รำวง หรือรองเง็ง ประเภทที่มี และประเภทที่ไม่มีหญิงพาตเนอร์บริการ (มาตรา ๓(๑))
๒) สถานที่ที่มีอาหาร สุรา น้ำชา หรือเครื่องดื่มอย่างอื่นจำหน่ายและบริการ โดยมีหญิงบำเรอสำหรับปรนนิบัติ ลูกค้า หรือโดยมีที่สำหรับพักผ่อนหลับนอน หรือมีบริการนวดให้กับลูกค้า (มาตรา ๓(๒))
๓) สถานอาบน้ำ นวด หรืออบตัว ซึ่งมีผู้บริการให้แก่ลูกค้า (มาตรา ๓(๓))
๔) สถานที่ที่มีอาหาร สุรา น้ำชา หรือเครื่องดื่มอย่างอื่นจำหน่าย โดยจัดให้มีการแสดงดนตรี หรือการแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิง (มาตรา ๓(๔))  


หลักเกณฑ์การตั้งสถานบริการ  อาคารหรือสถานที่ที่ขออนุญาตตั้งเป็นสถานบริการ ต้อง
๑) ไม่อยู่ใกล้ชิดวัด สถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา โรงเรียนหรือ สถานศึกษา โรงพยาบาล สถานพยาบาลที่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน สโมสรเยาวชน หรือหอพักตามกฎหมายว่าด้วยห้องพัก ในขนาดที่เห็นได้ว่า จะก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่สถานที่ดังกล่าว
๒) ไม่อยู่ในย่านที่ประชาชนอยู่อาศัย อันจะก่อให้เกิดความเดือดร้อน รำคาญแก่ประชาชนผู้อยู่อาศัยใกล้เคียง
๓) มีทางถ่ายเทอากาศสะดวก
๔) ปัจจุบันกระทรวงมหาดไทย มีนโยบายว่าจะไม่อนุญาตให้มีการตั้งสถานบริการ ตามมาตรา ๓ (๑) (๒) และ (๓) เว้นแต่ สถานบริการที่ได้ขออนุญาต ก่อนที่จะมีนโยบายไม่อนุญาตดังกล่าว หรือ เป็นสถานบริการที่ ตั้งขึ้นในโรงแรมที่ได้มาตรฐาน เพื่อการท่องเที่ยวหรือได้รับบัตรส่งเสริมจาก BOI ซึ่งจะอนุโลมให้ตั้งได้เฉพาะสถานบริการตามมาตรา ๓(๔) ในโรงแรมดังกล่าวได้ โรงแรม ละ ๑ แห่ง

ผู้มีอำนาจอนุญาตหรือรับแจ้งการตั้งสถานบริการ (พนักงานเจ้าหน้าที่)
- จังหวัดอื่น คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด - ติดต่อยื่นขออนุญาตตั้งสถานบริการได้ที่ อำเภอท้องที่ที่สถานบริการนั้นตั้งอยู่ (ที่ทำการปกครองอำเภอ) หรือ ขอทราบรายละเอียดได้ที่ สำนักงานจังหวัด ซึ่งตั้งอยู่ ณ ศาลากลางจังหวัดทุกจังหวัด , กองตรวจราชการและเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย โทร. 0-2221-1133 , 0-2221-2893
- กรุงเทพมหานคร คือ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล - ติดต่อที่ สถานีตำรวจท้องที่ หรือที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ


พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๕๓๐
ผู้ประกอบกิจการการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่าย เทปหรือวัสดุโทรทัศน์ โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้ผลประโยชน์ จะต้องทำการขอใบอนุญาตจากนายทะเบียน ในกรุงเทพมหานคร - ให้ยื่นต่อ งาน ๔ กองกำกับการ ๓ กองทะเบียน / สำหรับต่างจังหวัด ให้ยื่นคำขอต่อกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัด  (พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๕๓๐ มาตรา ๖)


พ.ร.บ.สุรา พ.ศ. ๒๔๙๓
การขายสุราทุกชนิดจะต้องขอใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานสรรพสามิต (พ.ร.บ.สุรา พ.ศ. ๒๔๙๓ มาตรา ๑๗)




พ.ร.บ.ยาสูบ พ.ศ. ๒๕๐๙
การขายยาเส้นหรือยาสูบ จะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานสรรพสามิต ผู้ที่ได้รับอนุญาตจะต้องแสดงใบอนุญาตไว้ในที่เปิดเผย ห้ามมิให้เปลี่ยนสถานที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาต และโอนใบอนุญาตให้บุคคลอื่น เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้มีอำนาจออกใบอนุญาต  (พ.ร.บ.ยาสูบ พ.ศ. ๒๕๙๓ มาตรา ๒๙-๓๑)


พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗
ผู้ประกอบการร้านคาราโอเกะ จะต้องขออนุญาตจากเจ้าของงานเพลงอันมีลิขสิทธิ์ ที่ผู้ประกอบการจะนำงานเพลงดังกล่าวไปประกอบการให้บริการของตนเอง ให้ยื่นคำขอต่อองค์กรจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เจ้าของลิขสิทธิ์นั้นๆ

 


 

2 ความคิดเห็น:

  1. กฎหมายปรับน้อยแท้ สำหรับพวกสถานบันเทิง ที่คนอยู่ใก้ลๆไม่บันเทิงด้วย เพราะหนวกหู กฎหมายอ่อนแอมาก ประชาชนเลยเดือดร้อน แก้ใหม่เหอะปรับเลยวันละแสน จนกว่าจะมีห้องเก็บเสียงค่อยเปิด

    ตอบลบ
  2. เข้ามาตรวจสอบร้านเหล้าตรงหาดวอนนภาบ้างก็ดีนะคะ ร้านตั้งอยู่ระหว่างที่พักอาศัยคอนโดมิเนียม และโรงแรม มีแต่วัยรุ่นมาใช้บริการ เล่นดนตรีสดเสียงดังจนถึงเที่ยงคืน ลูกค้าที่มาก็ขับรถมอเตอไซด์กลับทัเงที่เมามาย ไม่มีการตรวจใดๆเลย สร้างคว่มเดือดร้อนเป็นอย่างมากสำหรับผู้พักอาศัยโดยเฉพาะผู้สูงอายุละแวกนั้นเป็นอน่างมากค่ะ

    ตอบลบ